นักอ่านหลายคน คงต้องมีสักช่วงในชีวิตที่มี “กองดอง” อยู่เต็มไปหมด และ ปัญหาที่เกิดจากกองดองส่วนใหญ่ คือเราดันไปซื้อเล่มที่อยู่ในกองดองซ้ำมาอีกโดยไม่ได้ตั้งใจ
ผมเป็นนักสร้างกองดองระดับต้นๆ คนหนึ่ง และ เพื่อแก้ปัญหานั้น ผมจึงคิดว่า ผมควรมีระบบจัดการหนังสือของผมเอง แล้วเวลาผมจะซื้อหนังสือสักเล่ม ผมก็แค่หยิบมือถือ เปิด App ห้องสมุดของผม แล้วแสกนบาร์โค้ดเลข ISBN หนังสือ ให้ App บอกผมว่า “ผมมีหนังสือเล่มนั้นหรือยัง”
นั่นเป็น Concept ง่ายๆ และ ก่อนหน้านี้ผมเคยเขียบระบบหลังบ้านไว้แล้ว ระบบนั้นเก็บข้อมูลหนังสือไว้หลายร้อยเล่ม แต่ยังไม่ได้ทำ App แบบจริงจัง แต่ผมก็ดันพลาดไปลบ Server ตัวนั้นทิ้งโดยไม่ได้ตั้งใจ
หลังจากเหตุการณ์นั้น ก็ทำใจเริ่มต้นกับ Project นี้ไม่ได้อีกเลย จนกระทั่งได้มาใช้งาน AI อย่างจริงจัง
และ วันนี้ผมจะมาแบ่งปันวิธีการที่ผมให้ AI สร้างระบบนี้ขึ้นมาครับ ผมจะไม่ลงลึกไปที่การเขียนโปรแกรม การสร้าง Server หรือ อะไรก็ตามแต่ ที่เป็นเชิงเทคนิค ผมแค่จะมาแบ่งปันแนวคิดสนุกๆ ของการทำ Project นี้เท่านั้นครับ
แนวคิด

ผมต้องการระบบจัดการหนังสือ ที่สามารถใช้ร่วมกันได้หลายคน ผู้ใช้ทุกคนจะช่วยกันเพิ่มข้อมูลหนังสือต่างๆ เข้าในฐานข้อมูลกลางของหนังสือ
โดยผู้ใช้แต่ละคนจะมีบ้าน ซึ่งหมายถึง ห้องสมุดเป็นของตัวเอง
จากนั้นผู้ใช้งานจะเพิ่มหนังสือจากฐานข้อมูลกลาง เข้ามาในบ้านของตัวเอง หรือ ในระบบจะเรียกว่า “ห้องสมุดของฉัน” ตามเล่มที่เรามีครับ ถ้ามีคนใช้งานหลายคน และ หนังสือเป็นที่นิยม เราก็อาจจะไม่ต้องเพิ่มข้อมูลหนังสือเอง เพราะอาจจะมีผู้ใช้งานคนอื่นเพิ่มให้แล้ว
ผมต้องการ Application สำหรับ iPhone โดยให้ login เข้าสู่ระบบเพื่อดึงข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งานออกมา จากนั้นให้มีปุ่มสำหรับ Scan ISBN โดยการใช้กล้องของ iPhone
เมื่อแสกนแล้ว จะไปเช็คกับฐานของมูล “ห้องสมุดของฉัน” ของผู้ใช้งานคนนั้น ทำให้ผู้ใช้งานสามารถตรวจสอบเวลาไปร้านหนังสือ หรือจะซื้อหนังสือเพิ่มได้ว่า เล่มนี้เรามีแล้วยังนะ?
มาเริ่มกันเลย
เริ่มจากการสร้าง database ครับ ผมเริ่มคุยกับ GPT ว่าผมอยากทำระบบอะไร และ ควรมีฐานข้อมูลอะไรบ้าง เพื่อทำหน้าที่อะไร ซึ่งทั้งหมดตลอดการทำ project นี้ผมจะใช้ภาษาไทยอย่างเดียวในการคุยกับ Gpt ครับ นี่คือตัวอย่าง คำพูดที่ผมบอกกับ GPT
"ผมกำลังระบบจัดการห้องสมุด อยากสร้างฐานข้อมูลแบบ mysql โดยมีตารางหมวดหมู่ ตารางนักเขียน ตารางสำนักพิมพ์ มีตารางผู้ใช้งาน และ ผู้ใช้งานต้องสังกัดอยู่ในตารางบ้าน
จากนั้นมีตารางข้อมูลหนังสือ ที่เก็บเลข ISBN ราคา ชื่อหนังสือ และ ไอดีของหมวดหมู่ นักเขียน สำนักพิมพ์ พร้อมกับบันทึกว่าผู้ใช้งานคนไหนเป็นคนเพิ่มข้อมูล
จากนั้นให้สร้างตารางห้องสมุดของฉัน ที่มี การเก็บไอดีหนังสือ กับ ไอดีของบ้าน"
หลังจากผมพูดคุยกับ GPT อีกหลายประโยคจนคิดว่าเข้าใจตรงกัน และ ครอบคลุมดีแล้ว ผมก็ให้ GPT เขียนคำสั่ง sql สร้างตารางต่างๆ ข้างต้นขึ้นมา
และ นี่คือผลลัพธ์ขั้นต้นที่ได้จากการสร้างฐานข้อมูลใน workbench แล้วจำลอง ER Diagram ขึ้นมาครับ

สร้างตัวจัดการหลังบ้าน
หลังจากได้ฐานข้อมูลครบแล้ว ก็มาถึงลำดับต่อไป คือ เราต้องมีระบบหลังบ้าน ไว้สำหรับจัดการข้อมูลในฐานข้อมูล สร้าง อ่าน ปรับปรุง ลบ (CRUD) ซึ่งผมเลือกให้ใช้การจัดการผ่านหน้าเว็บ เพราะเข้าใช้งานสะดวก
โดยระบบนี้ผมต้องการให้ง่าย และ เร็วที่สุด ผมจึงเลือกให้ GPT เขียนเป็นภาษา PHP และ CSS framework อย่าง bootstap 5 ครับ
ผมให้ GPT เขียนระบบ login หน้าเพิ่มสมาชิก หน้าจัดการหมวดหมู่ และ หน้าจัดการอื่นๆไปตามตารางของ database ขั้นตอนนี้ใช้เวลาไม่นานครับ ไม่เกินชั่วโมงทุกอย่างก็พร้อมใช้งาน
อาจจะเป็นเพราะ ผมถนัดภาษา PHP และ เข้าใจข้อผิดพลาดที่ GPT เขียนมาได้อย่างรวดเร็ว
นี่คือหน้าตาระบบ จัดการหลังบ้านครับ

มีเรื่องหนึ่งที่ผมประทับใจมาก คือผมทดลองใช้งานจริงเพิ่มหนังสือไปได้ 40 เล่มนิดๆ แล้วรู้สึกเหนื่อย เพราะต้องพิมพ์ชื่อหนังสือเอง แบบเร็วสุดคือ แสกนเลข ISBN แล้วไป copy ชื่อตามร้านหนังสือออนไลน์
แต่สำหรับคนขี้เกียจอย่างผม ก็ยังเหนื่อยอยู่ดี
ผมเลขสั่งให้ GPT เขียน API ไปดึงชื่อหนังสือจากเว็บของ kinokuniya มาผ่าน ISBN แล้วให้ตรวจสอบข้อมูล ถ้าเจอ ก็ให้กรอกชื่อหนังสืออัตโนมัติ
วิธีนี้ทำให้ผมแสกนเลขหนังสือด้วยเครื่องยิงบาร์โค้ด แล้วรอสัก 2-3 วินาที ให้ API เค้าวิ่งไปเช็คกันเอง แปปเดียวชื่อหนังสือก็ปรากฏในช่องชื่อหนังสือของผมเรียบร้อย
สร้าง App กันเถอะ
ผมมีประสบการณ์น้อยมาก เท่ากับศูนย์เลยก็ได้ นี่คือการใช้ xcode และ swift ครั้งแรก แต่ก็ถือว่าทำได้ดีมากเพราะ GPT สอนได้ละเอียด มากทีเดียวครับ

หลังบ้านทั้งระบบผมใช้เวลา 2-3 ชั่วโมงเสร็จ แต่ app สองสามหน้า ผมใช้เวลาไป เกือบ 20 ชั่วโมง ความที่ไม่เคยเขียนมาก่อน
แต่สุดท้ายแล้วผมก็ได้ใน App มาใช้งานครับ ถึงตอนนี้มันจะอยู่แค่ในส่วนของการทดสอบ และ ผมสามารถใช้ได้แค่คนเดียว แต่ในอนาคตถ้ามันโอเคมากๆ แล้วผมมีความรู้กว่านี้ อาจจะได้เห็นใน App store ครับ


เอาจริงๆ แล้ว Icon App เองผมยังให้ GPT ออกแบบเลยครับ
ท้ายที่สุดนี้ ผมถ่ายภาพหน้าจอการทำงานของ App มาให้ดูกันนะครับ
สรุป
ถ้าคุณพอจะมีความใจในเรื่องอะไรก็ตามแต่ในระดับพื้นฐานถึงกลาง GPT ช่วยให้คุณทำงานง่ายขึ้นมากๆ การคุยกับอย่างมีลำดับขั้นตอน AI จะให้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด
และ ที่สำคัญถ้าไม่ได้ ให้ถามๆไปซ้ำๆ เพราะทุกครั้งที่ GPT ตอบมาจะเป็นคำตอบใหม่ๆเสมอ
Employee / Son / Father / Husband / and a little of everything in between