KIM.WTF

where curiosity meets creation

ใช้ Gridfinity สร้างระบบจัดเก็บน็อตและสกรู

โปรเจคนี้เกิดจาก ผมไปเจอชั้นเก็บของแบบคลาสิคที่บริษัทผมโล๊ะทิ้งไว้ในโกดัง ชั้นที่ทุกออฟฟิศ SME ในไทยเมื่อสัก 10-20 ปีก่อนอาจจะมีกันทุกออฟฟิศ และ ทุกวันนี้ก็ยังมีขายอยู่ แล้วก็ได้รับความนิยมดี

เอาจริงๆ ผมว่า function การใช้งานมันก็ยังดีอยู่มากๆ ทั้งความทนทาน ทั้งความปลอดภัยที่มีกุญแจล็อคให้พร้อม ล็อคจุดเดียว ลิ้นชัก 15 ชั้นล็อคพร้อมกันหมดเลย และยังทำจากเหล็กทั้งตัว ราคาซื้อวันนี้ผมว่าไม่น่าจะเกินห้าพัน (เพราะเห็น homepro เพิ่งขายอยู่) ถือว่าคุ้มค่า คุ้มราคามากชิ้นหนึ่งเลย

(ภาพประกอบจาก officemate.co.th)

มันคือชั้นแบบในภาพนั่นแหละครับ ชั้นเหล็กมาตรฐานขนาด 15 ชั้น ตัวที่ออฟฟิศผมโล๊ะทิ้ง สีก็จะออกเฉยๆ หน่อย เข้าใจได้ว่าสมัยนั้นคงไม่มีตัวเลือกมากนัก สมัยนี้เห็นมีสีสันหลากหลายมากขึ้น ดูน่าใช้งานขึ้นอีกเป็นกอง

มาเริ่มกันเลย

*ก่อนอื่นถ้าคุณยังไม่รู้ว่า gridfinity คืออะไร ผมแนะนำให้ไปอ่านเรื่อง “Gridfinity คืออะไร? What is Gridfinity!”

โปรเจคนี้ยังไม่มี BOM เพราะปกติผมจะสรุป BOM มาเก็บไว้ก็ต่อเมื่อ project เสร็จสิ้นแล้ว ซึ่ง project นี้น่าจะใช้เวลาอีกนาน ผมเริ่มไว้ตั้งแต่เดือน 3/2024 จนถึงตรงนี้ยังมีอีกเยอะที่ต้องทำ

ผมเลือกใช้วิธีการพิมพ์ไปทีละนิด ตามที่ผมมีชิ้นส่วนจะเก็บ ไม่พิมพ์ทีเดียว แล้วค่อยหาของใส่ แต่นี่เป็นงาน custom made เราสร้างจากของที่จะมาใส่ แล้วถึงจะพิมพ์ช่องเก็บให้พอดีครับ

ชั้นที่ผมเอามาใช้มีทั้งหมด 15 ชั้น ในแต่ละชั้นผมวางจะวางฐาน (gridfinity baseplate) ได้ขนาด 7×9 หรือ 56 ช่อง เมื่อคูณจำนวนชั้น ทั้งหมดเราจะได้ 840 ช่อง เอาไว้ใช้งานครับ ก็ถือว่าโคตรเยอะเลยครับ (หลังจากใช้งานมา 3 เดือน ยังใช้ไปได้แค่ 2 ชั้นครึ่งอยู่เลยครับ)

ตาราง 7×9 ขนาด 56 ช่อง

การใช้ Gridfinity มีข้อดีมันเป็นระบบ Grid ทำให้เราสามารถจัดวางพื้นที่ได้ง่าย โจทย์ผมคือ ต่อ 1 ชั้นมีขนาด 56 ช่อง ผมจึงสร้างฐานจำลองขึ้นมาใน Fusiuon 360 ขนาด 56 ช่อง แล้วมาวางแผนว่าจะสร้างฐานขนาดเท่าไหร่ จำนวนกี่ชิ้น

โจทย์อีกอย่างคือเครื่องพิมพ์ ender3 V3 KE ที่ผมใช้นั้น ถ้าพิมพ์ในระบบ gridfinity จะได้ขนาดที่กว้างที่สุดคือ 5×5 ช่อง

ดังนั้นผมจึงแบ่งออกเป็นดังนี้ครับ เส้นสีแดงหมายถึงฐานจากในภาพ ผมจะต้องใช้ฐานขนาดต่างๆ ดังนี้

  1. 2403001-003 Gridfinity Baseplate ขนาด 5×5 จำนวน 1 ชิ้น
  2. 2403001-004 Gridfinity Baseplate ขนาด 5×4 จำนวน 1 ชิ้น
  3. 2403001-005 Gridfinity Baseplate ขนาด 2×5 จำนวน 1 ชิ้น
  4. 2403001-006 Gridfinity Baseplate ขนาด 2×4 จำนวน 1 ชิ้น

ส่วน Bin ผมกำหนดให้เป็นสีม่วงครับ มีเทคนิค คือเส้นสีม่วงควรจะต้องคล่อมเส้นสีแเดงเสมอ เพราะ Bin จะช่วยกันยึดฐาน เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ไม่ให้เคลื่อนตัวไป จากในภาพ ผมจะต้องใช้ Bin ขนาดต่างๆ ดังนี้

  1. 2403001-007 Gridfinity Bin ขนาด 4x4x5U แบ่งเป็น 9 ช่อง มี scoop แล้ว label จำนวน 1 ชิ้น
  2. 2403001-008 Gridfinity Bin ขนาด 4x5x5U แบ่งเป็น 12 ช่อง มี scoop แล้ว label จำนวน 1 ชิ้น
  3. 2403001-009 Gridfinity Bin ขนาด 3x4x5U แบ่งเป็น 6 ช่อง มี scoop แล้ว label จำนวน 1 ชิ้น
  4. 2403001-010 Gridfinity Bin ขนาด 3x5x5U แบ่งเป็น 8 ช่อง มี scoop แล้ว label จำนวน 1 ชิ้น

สร้างชิ้นส่วนต่างๆ ขึ้นมา

ในส่วนนี้ผมใช้ FusionGridfinityGenerator ใน fusion 360 สร้างขึ้นมานะครับ

นี่คือชิ้นส่วนที่ได้มาทั้งหมดใน 1 ชั้นนะครับ หลังจากกนี้เราก็สั่งพิมพ์ไว้ ไปดูซีรี่ย์ netflix สักเรื่อง น่าจะพิมพ์เสร็จพร้อมซีรี่ย์จบพอดี 😛

ได้เวลาจัดเรียง

หลังจากพิมพ์ทุกอย่างเสร็จ เอาฐานใส่ลิ้นชัก เอากล่องที่พิมพ์มาไปเรียงไว้ตามแผนผัง ได้เวลาเครื่องพิมพ์ลาเบล ใส่เทปใส ค่อยไล่พิมพ์ไปติดทีละช่องๆ ก็พร้อมใช้งานแล้วครับ

ติดป้ายให้เรียบร้อย เพราะตอนสั่งพิมพ์กล่อง เราสั่งให้มันสร้าง label ขึ้นมาด้วย

หลังจากใช้งานจริงๆ มา 3 เดือน มันดีขึ้นมากเลย น็อต สกรู นัท ผมแทบจะไม่มีหาย อยากใช้อะไรก็หาง่าย กวาดสายตาไปก็เห็นทันที

ถ้าสังเกต ผมไม่ได้เรียงตามขนาด น็อตนะครับ เพราะผมทะยอยสั่งซื้อมาตาม project ฉะนั้นจึงไม่สามารถวางแผนได้ว่าต้องใช้อะไรขนาดไหนบ้าง

เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ตลอด 3 เดือนที่ผมใช้มา ส่วนมากจะเป็นน็อต M3 ซะเป็นส่วนใหญ่ และ จาก 15 ชั้นของตู้เอกสารอันนี้ ผมใช้ไปราวเกือบ 3 ชั้น ซึ่งคิดว่าน่าจะพอมากๆ

แต่ถึงไม่พอยังไง ในโกดังผมยังมีเหลือตู้แบบนี้อีกหลายตู้เลยแหละครับ 😀